หยก หินแห่งสรวงสวรรค์

หยก หินแห่งสรวงสวรรค์

หยก อัญมณีที่มีความหมายมงคล และเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะขาวจีนที่เชื่อกันว่า “หยก” คือ “หินจากสวรรค์” ที่มีความสมดุลของความเป็น “หยินและหยาง” และเป็นสื่อระหว่างสรวงสวรรค์กับโลกมนุษย์

ซึ่งในวัฒนธรรมจีนมีการนำหยกมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมต่าง ๆ และนิยมนำมาทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้เครื่องประดับ งานศิลปวัตถุ เครื่องราง หรือรูปเคารพต่าง ๆ  อีกทั้งหยกยังเป็นเป็นอัญมณีชั้นสูงสำหรับองค์จักรพรรดิ และราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น

 

ความหมายของหยก

หยก หรือ Jade ในภาษาอังกฤษ มาจากคำในภาษาสเปนว่า “Piedra de hijada” หมายถึง “เทพเจ้าแห่งหินทั้งปวง” ส่วนในภาษาพม่า เรียกว่า “เจ้าเซง” ซึ่งหมายถึง “หินที่มีสีเขียว”

ในภาษาจีนกลาง เรียกหยกว่า “หยู” หรือ “ยู่” หมายถึง งดงามและสมบูรณ์แบบ ชาวจีนถือว่าหยกเป็นอัญมณีที่มีค่าสูงสุด ความนิยมของชาวจีนปรากฏในประวัติศาสตร์จีนครั้งแรก เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว ซึ่งในปรัชญาจีนมีการเปรียบเทียบลักษณะของหยกกับจิตใจของมนุษย์ในวรรณคดีโบราณของจีนค่ะ

 

ชนิดของหยก

หยก สามารถแบ่งได้โดยการพิจารณาโครงสร้างภายในตามหลักวิทยาศาสตร์แบ่งเป็น ๒ ชนิด ดังนี้

๑. หยกเจดไดต์ (Jadeite) หรือ หยกพม่า

เป็นหยกที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก มีแหล่งกำเนิดอยู่ในแถบรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า หยกเจดไดต์เกิดจากหินแปรที่มีองค์ประกอบทางเคมีเป็นโซเดียมอะลูมิเนียมซิลิเกต (NaAl (SiO3)2, Sodium aluminium silicate)จนเกิดเป็นหินที่มีเนื้อใส และมีสีสันต่าง ๆ ซึ่งเป็นสีที่เกิดจากธาตุโลหะที่แทรกอยู่ภายในได้แก่

ธาตุโครเมียม       ทำให้เกิดสีขาว

ธาตุเหล็ก              ทำให้เกิดสีเหลือง น้ำตาลถึงส้ม

ธาตุแมงกานีส      ทำให้เกิดสีชมพู และม่วงน้ำตาล

หยกเจดไดต์มีความแข็งที่ระดับ ๗ – ๘.๕ โมห์ มีโครงสร้างเรียงเป็นแบบเม็ดที่เรียกว่า แกรนนูล่า (Granular) ทำให้มีความแข็งมากกว่าพลอยชนิดต่าง ๆ จึงนิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับที่มีราคาสูง เช่น หัวแหวน จี้ กำไลข้อมือ เป็นต้น

 

หยกเจดไดต์ ที่มีราคาแพงที่สุด คือ “หยกจักรพรรดิ” (Imperial Jade)  ลักษณะคือมีสีเขียวปานกลางไปจนถึงสีเขียวเข้มเสมอทั่วกันทั้งชิ้น กึ่งโปร่งใสจนสามารถมองทะลุไปถึงด้านหลังได้ พบอยู่ที่ประเทศเมียนมา ถือเป็นหยกที่ดีที่สุดในโลก และค่อนข้างหายาก จึงเป็นของคู่บุญคู่บารมีพระเจ้าจักรพรรดิ และเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า “หยกจักรพรรดิ” นั่นเองค่ะ

๒. หยกเนฟไฟรต์ (Nephrite) หรือ หยกจีน

หยกเนฟไฟรต์ (Nephrite) หรือ หยกจีน เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เนื่องจากถูกพบเป็นจำนวนมาก มีองค์ประกอบทางเคมีเป็นแคลเซียมแมกนีเซียมซิลิเกต (Calcium magnesium silicate) แหล่งของหยกเนฟไฟรต์ที่สำคัญอยู่ในบริติชโคลัมเบีย (British Columbia) ประเทศแคนาดา ห่างจากชายแดนด้านตะวันออกของ Alaska ประเทศสหรัฐอเมริกา ราวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังพบในประเทศไต้หวัน จีน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย หยกเนฟไฟรต์ยังมีสีสันไม่มากนัก ที่พบส่วนมากมักจะมีสีเขียวใบไม้อมดำ สีเทา สีน้ำตาล ไปจนถึงสีขาว และมักจะมีจุดสีดำที่เกิดจากธาตุเหล็กแทรกอยู่ หยกเนฟไฟรต์มีความแข็งอยู่ที่ระดับ ๕ – ๖ โมห์เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าหยกเจดไดต์ จึงมีชื่อเรียกว่า “หยกอ่อน” ค่ะ

แต่หยกเนฟไฟรต์มีก็คุณสมบัติที่โดดเด่น คือ ความเหนียวแน่นของเนื้อหยกค่ะ เนื่องจากโครงสร้างที่ถักทอเป็นเส้นใยหนาแน่นทั่วเนื้อของหยก จึงเหมาะแก่การแกะสลักเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป รูปปั้นเทพเจ้าต่าง ๆ ตราประทับหยก เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ถ้วยชาม แจกัน หรือเครื่องประดับอื่น ๆ เช่น กำไล แหวน เป็นต้น

หยกเนฟไฟรต์ (Nephrite)
หยกเนฟไฟรต์ (Nephrite)

หยกกับการนำมาใช้

หยก เป็นเครื่องประดับอันสวยงาม และใช้แสดงถึงสถานะทางสังคม โดยความนิยมเริ่มต้นขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉาง (Shang) (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และต่อมายังราชวงศ์โจว (Zhou) (1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยเริ่มจากการนำหยกมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น อาวุธ ตราประจำตำแหน่งข้าราชการ เครื่องประดับ และทำเป็นรูปแกะสลักขนาดใหญ่เพื่อประดับบ้านเรือน

และยังต่อมาในยังสมัยราชวงศ์ฮั่น (Han) (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 220) ราชวงศ์หยวน (Yuan) (ค.ศ. 1279-1368)  และราชวงศ์หมิง (Ming) (ค.ศ. 1368-1644) จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง (Qing) (ค.ศ. 1644-1912) ค่ะ

 

ลักษณะการใช้งานหยกได้ดังนี้

๑. เครื่องประดับ ได้แก่ กำไลหยก ซึ่งความนิยมนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการนำมาทำเป็นเครื่องประดับอื่น ๆ เช่น แหวน สร้อย จี้ ต่างหู เข็มกลัด อีกด้วยค่ะ

๒. เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ถ้วย ชาม แก้วน้ำ อาวุธต่าง ๆ เป็นต้น

๓. รูปเคารพหรือเครื่องราง เช่น รูปสลักพระพุทธรูป เทพเจ้า สัตว์มงคลต่าง ๆ หรือรูปสัญลักษณ์มงคลของจีน เช่น มังกร ปี่เซีย สำหรับพกติดตัว และใช้เคารพบูชาค่ะ

ปี่เซียะหยก
ปี่เซียะหยก

หยก : ศรัทธาและความเชื่อ

ชาวจีนมีความเชื่อว่ากว่าหยกนั้นมีการซึมซับพลังจากจักรวาล ได้แก่ พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ และพลังงานความเย็นจากดวงจันทร์  รวมไปถึงพลังงานจากดวงดาวต่าง ๆ ดังนั้นชาวจีนจึงถือว่าหยกเป็นหินที่รวมพลังของชีวิตเอาไว้

และยังเชื่อด้วยว่าหยกสามารถใช้สื่อสารระหว่างโลกกับจักรวาล รวมไปถึงสวรรค์ ทำให้เกิดเป็นความเชื่อว่า การจะเดินทางไปสู่สวรรค์ได้นั้น ต้องใช้หยกเป็นสื่อนำทาง ซึ่งชาวจีนจึงมักจะทำป้ายชื่อของตนขึ้นมาจากหยก เพื่อใช้เป็นเส้นทางที่นำไปสู่สวรรค์ หรือใช้เป็นป้ายประจำตระกูล

ด้วยเหตุนี้จึงมีความนิยมทำเป็นเครื่องประดับสำหรับพกติดตัว โดยความเชื่อว่าหยกนั้นจะช่วยปกป้องคุ้มครอง และนำสิ่งดี ๆ มาสู่ชีวิต และสามารถสวมใส่หยกเพื่อทำนายสุขภาพหรือทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้อีกด้วย เช่น

ถ้าหยกที่สวมใส่อยู่นั้นมีสีสันสดใสขึ้นมา หมายถึง เจ้าของหยกกำลังจะมีโชค

แต่หากหยกที่สวมใส่อยู่มีสีที่มัวหมองลง หมายถึง เจ้าของหยกกำลังจะมีเคราะห์

ในราชสำนักจีนยกให้ “หยก” เป็นสัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิที่จะพระราชทานให้กับข้าราชบริพารที่มีความดีความชอบ เพื่อเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ และยังมีการนำหยกมาแกะสลักอย่างประณีตด้วยฝีมือช่างชั้นสูง โดยทำเป็นตราพระราชลัญจกร พระธำมรงค์ พระคทา หรือพระที่นั่งสำหรับพระจักรพรรดิ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แสดงพระราชอำนาจของพระองค์ด้วยความเชื่อว่า “หยกเป็นหินแห่งสรวงสวรรค์” (Stone of Heaven) จึงเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะใช้สอยสำหรับโอรสแห่งสวรรค์ (Son of Heaven) ค่ะ

เครื่องกำยานหยก
เครื่องกำยานหยก

เมื่อสวรรคตแล้ว พลังแห่งหยกจะช่วยรักษาร่างกายให้เป็นอมตะ ศพไม่เน่าเปื่อย โดยมีการทรงฉลองพระองค์ที่ทำจากการนำเอาแผ่นหยกบาง ๆ มาร้อยด้วยด้ายทองคำ เพื่อรักษาพระศพเอาไว้

ฉลองพระองค์ทำด้วยหยก
ฉลองพระองค์ทำด้วยหยก

รวมไปถึงความเชื่อเกี่ยวกับการนำหยกมาบดเป็นผงละเอียดผสมกับน้ำดื่ม เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงทนทาน มีพละกำลัง และสร้างความกล้าหาญให้มากยิ่งขึ้นค่ะ

ชาวแอซแท็คในเขตละตินอเมริกาเอง มีความเชื่อว่า หากสวมใส่หยกบริเวณเอวจะช่วยรักษาอาการปวดท้องและปวดเอวให้หายได้ ในวัฒนธรรมของชาวเมารีบนเกาะในประเทศนิวซีแลนด์ก็ปรากฏความเชื่อนี้ด้วยเช่นกัน โดยชาวเมารีถือว่าหยกเป็นเครื่องหมายสืบทอดอำนาจภายในวงศ์ตระกูล สำหรับในดินแดนอียิปต์โบราณ มีความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีการนำหยกไปใส่ไว้ในปากของผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชนชั้นสูง เพื่อใช้เป็นสิ่งแทนหัวใจ

หยกแกะสลักศิลปะยุคมายา
หยกแกะสลักศิลปะยุคมายา

ความเชื่อเรื่องสีของหยก

หยกสีเขียว เป็นสีที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ร่ำรวย จึงเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ชาวจีน

หยกสีขาว เป็นสัญลักษณ์พลังจิตใจที่ใสสะอาดและความบริสุทธิ์ผุดผ่อง รวมถึงความมีอายุยืน จึงนิยมนำไปสร้างเป็นพระพุทธรูปในประเทศเมียนมา

หยกสีม่วง เป็นสีที่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์มีความสุข ช่วยรักษาด้านอารมณ์และความอดกลั้น

หยกสีแดง เป็นสีที่สื่อให้เกิดการรับรู้ในอารมณ์ความรักได้ดี ช่วยลดความโกรธและความเครียดต่าง ๆ

หยกสีเหลือง เป็นสีที่ก่อให้เกิดสัญลักษณ์แห่งการกระตุ้นชีวิตชีวาให้เต็มไปด้วยความสุขสนุกสนาน และเพิ่มพลัง

 

หยกในแผ่นดินสยาม

พบว่ามีการนำหยกมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปต่าง ๆ ด้วย โดยพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกเนฟไฟรต์ ได้แก่ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของประทศไทย นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นยุคที่มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศทางตะวันตก ยังปรากฏการทำเครื่องประดับและสิ่งของเครื่องใช้จากหยก ด้วยฝีมือช่างทองหลวงจากตะวันตก สำหรับนำมาจัดถวายแก่ราชสำนัก เช่น ตลับพระโอสถหยก โดยตัวตลับทำจากหยกเนฟไฟรต์ ซึ่งจัดทำโดยห้างฟาร์แบร์เฌ่ เพื่อจัดถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

พระแก้วมรกต
พระแก้วมรกต

ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินที่จัดแสดงอยู่ ณ “ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์” บางชิ้นได้มีการนำหยกมาทำเป็นเครื่องประดับร่วมกับทองคำหรืออัญมณีชนิดอื่น ๆ โดย สามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

๑. เครื่องราชูปโภค ได้แก่ ถ้วยชาพร้อมฝาหยก สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานเป็นเครื่องยศแก่เจ้านายชั้นเจ้าฟ้า

๒. เครื่องประดับ ได้แก่ แหวนทองคำหัวหยกรูปมังกรประดับเพชรซีก ซึ่งมีลักษณะเป็นแหวนตรา สำหรับพระราชทานให้แก่เจ้านายหรือขุนนางชั้นสูง รวมไปถึงหน้าจั่นทองคำขอบหยก และกระดุมหยกเรือนทองคำ สำหรับประดับตกแต่งเครื่องแต่งกาย

 

การดูแลรักษา

สำหรับเครื่องประดับหยกนั้น ไม่ควรเก็บไว้รวมกับอัญมณีชนิดอื่น ๆ เพราะจะทำให้เกิดรอยขูดขีดได้ เนื่องจากหยกเป็นอัญมณีที่มีความแข็งไม่มากนัก ส่วนการทำความสะอาดให้ใช้น้ำยาล้างเครื่องประดับ หรือสบู่เหลวอ่อน ๆ ผสมน้ำให้เจือจาง เช็ดทำความสะอาดจากนั้นใช้ผ้านุ่มสะอาดซับให้แห้ง

ด้วยความเชื่อและความศรัทธาในหินสีเขียวที่เรียกว่า “หยก” นั้นถูกสั่งสมมานานนับกว่าห้าพันปี ได้มีการส่งต่อผ่านทางวัฒนธรรมไปยังประเทศอื่น ๆ กระจายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความสำคัญของหยกที่มีคุณค่าคู่ควรแก่พระเจ้าแผ่นดินและราชสำนักชั้นสูง ด้วยเหตุนี้ “หยกจึงเป็นหินแห่งสรวงสวรรค์” อันล้ำค่าจริง ๆ ค่ะ


สนใจหินมงคลสำหรับเสริมดวงชะตา คลิกได้ ⇒ ที่นี่


อ.ณิชารัศมิ์ หินเดินดาว

ผู้คิดค้น วิชาหินเดินดาว ศาสตร์พยากรณ์ 12 พลังหิน

สมาคมโหรแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

Facebook: หินเดินดาวณิชารัศมิ์โหราศาสตร์

Ad Nicharas on HDTV
Ad Nicharas on HDTV